CCTV
CCTV - Dome Camera
CCTV - Infrared Camera
CCTV - Standard Camera
CONNECTOR
CONVERTER
FIBER ACCESSORIES
FIBER EQUIPMENT
FIBER TRANCEIVER
Network Management
Program
Tablet
VOIP
Wire Solution
Personal Terminal
Application Solution
Tracking System
IPTV Solution

 
3G ช่วยชาติ ลดช่องว่างบริการโทรคม
       หลายคนอาจยังสงสัยถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี 3G ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคนไทยยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสเทคโนโลยีนี้อย่างทั่วถึง เพราะปัจจุบันการให้บริการจำกัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนผู้ให้บริการเอกชนก็ทำได้เพียงทดลองบริการในบางพื้นที่และในวงจำกัดเท่านั้น
       
       3G เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถรับ-ส่งข้อมูล ภาพ และเสียงขนาดใหญ่โดยทำให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 3G หรือ HSDPA /EV-DO/ UMTS และ HSPA โดยความเร็วของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายที่ได้นั้นสูงมาก อยู่ที่ประมาณ 512Kbps - 7.2 Mbps และปัจจุบันพัฒนาไปถึงระดับความเร็ว 14.4 Mbps
       

       ความเร็วที่สูงขึ้น ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต้องการส่งข้อมูลภาพและเสียงขนาดใหญ่ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและไม่ติดขัด ไม่ว่าจะเป็นการชมทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต, เล่นเกมส์ออนไลน์,โหลดไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งการใช้งานวิดีโอคอลล์ หรือการโทรศัพท์แบบเห็นหน้าก็สามารถทำได้ แต่ประโยชน์ที่เอ่ยถึงข้างต้นนี้ ถือเป็นเพียงประโยชน์ในมุมเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
       
       แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ เทคโนโลยี 3G ได้รับการยอมรับแล้วว่ามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก 3G สามารถใช้เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้น
       
       3G ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันการเพิ่มอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งผลจากการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดย Telecom Management Group หรือ TMG ระบุว่า เมื่ออัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 1% รายได้ต่อหัวของประชากรจะเพิ่มขึ้น 4.7% และเมื่อการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 1% รายได้ต่อหัวของประชากรก็จะเพิ่มขึ้น 10.5% ด้วย ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมา พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรเท่านั้น
       

       แต่ในบางประเทศ การให้บริการเหล่านี้สำหรับพื้นที่ในเขตทุรกันดารยังเป็นไปได้ยาก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล องค์กรสาธารณะ และหน่วยงานเอกชน ที่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาการสื่อสารในภูมิภาคเหล่านี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องจากระบบไร้สายสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางด้วยต้นทุนการติดตั้งที่ต่ำ
       
       ด้วยเหตุนี้ 3G จึงเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมในการเชื่อมต่อกับพื้นที่ห่างไกล ยิ่งไปกว่านั้น ระบบไร้สาย 3G กลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริการรับ-ส่งเสียงและข้อมูล เนื่องจากความคุ้มค่าในการลงทุน ความสามารถในการขยายการให้บริการแก่ฐานผู้ใช้บริการที่มีอัตราเติบโตสูง รวมทั้งการให้บริการเสริมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ 3G ยังมีความสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างดีเยี่ยมด้วยค่าบริการข้อมูลที่ต่ำที่สุด เมื่อความสามารถในการส่งข้อมูลเพิ่มขึ้น สถานีฐานเซลลูลาร์ (Base Transceiver : BTS) แต่ละแห่งจึงรองรับการส่งข้อมูลในปริมาณมากขึ้น ในขณะที่เครือข่ายต้องการอุปกรณ์และสถานีรับ-ส่งน้อยลง ดังนั้น จึงลดต้นทุนการดำเนินการและการลงทุนลงได้
       
       จากการที่เกือบ 1 ใน 3 ของหมู่บ้านในประเทศไทยยังอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยากประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาทำให้การขยายเครือข่ายเป็นไปได้ยาก แต่จากความสามารถของเทคโนโลยี 3G ผนวกกับต้นทุนการลงทุนที่ต่ำ จึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาสำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้กำหนดกฎเกณฑ์ในการให้บริการที่จะเลือกนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อให้ก่อให้ประโยชน์ และนอกจากผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3G ยังเป็นคำตอบสำหรับการลดช่องว่างดิจิตอล สำหรับสังคมเมือง และสังคมชนบทได้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันราคาอุปกรณ์พกพาสำหรับรองรับ 3G ลดลงมามากจนทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น
       
       ประโยชน์ต่อมาของ 3G คือการเข้าไปสนับสนุนการลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเด็กเมืองและเด็กชนบทรวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี
       
       การศึกษาที่ยังล้าหลังเพราะประชากรไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลดังนั้น หากจะกระตุ้นประสิทธิภาพการศึกษาในปัจจุบัน ไทยต้องก้าวข้ามคำว่า 'การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต' ที่จัดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อพิจารณาจากตัวเลข ผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ขีดความสามารถในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมของเยาวชนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะระดับความรู้ในการแข่งขันกับเยาวชนของประเทศอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่สูงกว่า เนื่องจากระดับความรู้ของเยาวชนไทยจะขาดความกว้างไกล เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และในระยะยาวการแตกหน่อทางความคิดการคิดค้นนวัตกรรมจะไม่มีการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
       
       ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาการศึกษา โดยได้มีการประกาศนโยบายภายหลังจากการติดตั้งเครือข่าย 3G ให้มีการสรรหาอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อที่มีราคาถูกเพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบ 3G ได้ง่ายขึ้น หรือในบางประเทศก็เลือกที่จะผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นมาเอง เช่น ประเทศเวียดนามที่มีนโยบายว่า 'จะต้องผลิตโมเด็มไร้สายเพื่อเชื่อมต่อโครงข่าย3Gให้เยาวชนในประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้'
       
       เหตุที่ประเทศเวียดนามสามารถกำหนดนโยบายนี้ได้ เนื่องจากเวียดนามมีการให้ใบอนุญาต 3G แล้ว ขั้นต่อมาคือการพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เป็น USB Modem แบบไร้สายในราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของได้
       
       ในขณะที่ประเทศมาเลเซียที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงกว่าประเทศไทย แต่ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับรัฐบาลมาเลเซีย จึงกำหนดให้มีนโยบายที่จะใช้ 3G Wireless Modem ติดตั้งตามบ้าน แทนที่อุปกรณ์ DSL ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) ภายในประเทศให้สูงยิ่งขึ้นจนถึงในระดับ 50%
       
       ด้านสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USAID) และกระทรวงศึกษาธิการ มีการใช้ระบบโครงข่าย 3G ด้วยเทคโนโลยี CDMA EV-DO ติดตั้งให้โรงเรียนในโครงการเพื่อใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และมีการวัดผลทุกๆ 18 เดือน โดยรัฐบาล
       
       ปัจจุบัน ในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย มีหลายสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันเอกชนที่มีการแจกแลปท้อป หรือ โน้ตบุ๊ก ให้นักศึกษาใช้งาน เสมือนเป็นตำราเรียนเล่มหนึ่งและเป็นหนึ่งในอุปกรณ์การศึกษา เพราะระบบการจัดการด้านการเรียนการสอนในปัจจุบันในสถาบันเหล่านั้น จะใช้ผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดว่านโยบายด้านการศึกษามีความก้าวหน้าไปแล้ว
       
       แต่จากข้อมูลสถิติกลับพบว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังมีตัวเลขที่ต่ำอยู่ นักศึกษาได้ใช้งาน Wi-Fi ผ่าน Hot Spot เมื่ออยู่ในรั้วสถาบันการศึกษา แต่เมื่อไรก็ตามที่อยู่นอกเขตสถาบัน ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระและที่สำคัญเด็กต่างจังหวัดยังถูกกีดกั้นการยกระดับความรู้เพียงเพราะไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
       
       สำหรับด้านสาธารณสุข 3G ก็มีประโยชน์ในการตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีเพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทางเข้าถึง ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวผู้ป่วยสามารถรับการรักษาจากแพทย์ที่ประจำอยู่ในตัวเมืองใหญ่หรือแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันที ผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (การประชุมทางไกลทั้งภาพ เสียง และข้อมูล) โดยมีเจ้าหน้าที่ หรือแพทย์และพยาบาล ประจำท้องถิ่นเป็นผู้ประสานงาน
       
       จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด ผลการวิจัยที่ศึกษาจากกลุ่มแพทย์ 282 ราย และคนไข้มากกว่า 3,600 คน ในกลุ่มตัวอย่างพบว่า การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบออนไลน์ รวมถึงอีเมล์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณหนึ่งเหรียญสหรัฐต่อคนไข้หนึ่งคนต่อเดือน
       
       จากประโยชน์ที่ไล่เรียงมาของเทคโนโลยี 3G ถึงตอนนี้คงไร้ข้อสงสัยถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีไร้สายชนิดนี้ และเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทยได้และคนไทยได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยยกระดับเศรษฐกิจ สังคมและคนในประเทศให้ดีขึ้นตามกระแสของโลก
       
ที่มา : Manager online

 
     
Any System Co., Ltd. 127/154 หมู่บ้านซิกเนเจอร์ ซ.วิภาวดีรังสิต 60 แยก 18-1-6 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
Tel. (662) 561-5233   Fax. (662) 940-8025   E-mail : support@anysystem.co.th
  © Copyright 2012  Any System Co., Ltd.  All Rights Reserved.